ลูกค้าเข้าร้านเยอะ แต่ทำไมกำไรน้อยจัง?

ทำไมกำไรน้อย

ลูกค้าเข้าร้านก็เยอะ แต่ทำไมกำไรน้อยจัง

ปัญหากำไรน้อยมักจะเกิดขึ้นกับร้านอาหารหลาย ๆ ร้าน แต่ก็ยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นไปได้ว่า...

ลืมคิดถึงต้นทุนวัตถุดิบ

“กำไรเป็นส่วนที่เหลือจากการหักลบต้นทุนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทุนที่ลงเงิน หรือทุนที่ลงแรง” หลาย ๆ ท่านอาจสงสัยว่า คนเข้าร้านเราก็เยอะนะ แต่กำไรมันหายไปไหนหมด นั้นเพราะว่าคุณคิดถึงเฉพาะต้นทุนของวัตถุดิบแต่ลืมคิดถึงต้นทุนการจัดการบริหารงาน คำว่า “ต้นทุนการจัดการบริหารงาน” ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าจิปาถะอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นแล้วคุณควรใส่ใจในรายละเอียดของต้นทุนทุกอย่างให้ดี แล้วคุณจะพบกำไรที่แท้จริง

พนักงานโกงหรือทำงานผิดพลาด

พนักงานเป็นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมี เพราะคุณไม่สามารถทำทุก ๆ ตำแหน่งในร้านได้เอง มีร้านไหนบ้างที่เจ้าของกิจการทำเองหมด ตั้งแต่พ่อครัวยันคิดเงิน (ถึงจะทำได้ คุณก็จะเหนื่อยมาก ๆ จนไม่มีแรงทำอะไรต่อแล้ว) พนักงานที่คุณรับเข้ามาทำงานนั้น ต่างคนต่างนิสัย บางคนนิสัยดี บางคนแอ๊บนิสัยดี (ก็มีนะ) การโกงแบบเนียน ๆ ก็อาจมีเกิดขึ้นได้ เช่น การโกงบิล ทำอาหารกินกันเองในครัว ขโมยเงินจากแคชเชียร์ เป็นต้น บางทีอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยที่หลาย ๆ ท่านเลยมองข้ามไป เพื่อไม่ให้เกิดการบาดหมางใจระหว่างลูกน้องกับนายจ้าง แต่เรื่องเล็กน้อยเมื่อสะสมเข้าก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน เมื่อกำไรที่ควรจะได้ดันหายไปกับพนักงาน

จดทุกอย่างลงในกระดาษ ทำให้พลาดง่ายๆ

ผู้ประกอบการบางร้านเพิ่งเปิดใหม่ ทำทุกอย่างด้วยการจดกระดาษ เพื่อลดต้นทุน แต่บางครั้งก็เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เช่น อาหารมาไม่ครบบ้าง ไหนจะเสิร์ฟอาหารผิดโต๊ะบ้าง เขียนมาแล้วอ่านลายมือไม่ออก จนทำให้อาหารล่าช้า ทำผิดบ้าง ทำผิดก็ต้องทำให้ลูกค้าใหม่ ลูกค้าก็รอช้าไปอีก หรือบางทีทำใบจดรายการหาย เมื่อความผิดพลาดมีมากขึ้น ความพึงพอใจของลูกค้าก็ลดน้อยลง หรือถ้าแย่ที่สุดคือลูกค้าเขียนวิจารณ์ร้านเราในทางลบ บริการแย่ พนักงานห่วย นั้นจึงส่งผลให้ลูกค้าลดน้อยลงไป

สต๊อกสินค้าไว้แต่ไม่เคยจดบันทึก

การสต๊อกสินค้าเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามไป หากคุณไม่เคยมีการจดบันทึกไว้เลย นั้นแหละคุณกำลังมีปัญหาแล้ว การไม่จดบันทึกสต็อกสินค้าส่งผลเสียยังไงบ้าง เรามาดูกันครับ คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคุณมีสินค้าเหลืออยู่เท่าไหร่หรือใช้ไปเท่าไหร่ คุณไม่รู้ว่าสินค้าไหนขายดี – ขายไม่ดี การยักยอกของออกจากสต๊อกของคุณทำได้ง่าย “เมื่อไม่จด คุณก็โดนคด(โกง)” สิครับ คำว่า “เงินจม” บางทีคุณสต๊อกของไว้หลายรายการ แต่มีสินค้าตัวนึงขายไม่ดี แต่คุณไม่รู้ว่าสินค้านั้นน่ะมันขายไม่ดี คุณก็ดันสั่งมาเพิ่มในสต็อค “ของเก่ายังไม่ทันจะขายออก ของใหม่มาอีกละ” แทนที่จะไปสั่งสินค้าที่ขายได้ดีมาก ๆ มาสต๊อกไว้แทน นั้นล่ะครับ เงินคุณก็จมอยู่ตรงนั้นแหละ ถึงแม้ว่าลูกค้าจะแน่นร้าน แต่ถ้าไม่สามารถจัดการปัญหาได้ กำไรที่คุณฝันเอาไว้ก็จะละลายหายไป จนคุณต้องนั่งกุมขมับ

ไม่แยกเงินส่วนตัวกับเงินร้าน

ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายมักจะคิดว่า เงินหรือกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจก็คือเงินของคุณ คุณสามารถหยิบเอาไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้เลย อยากจะหาความสุขใส่ตัวคุณก็หยิบไปใช้ ค่าเทอมลูก ค่านู้นนี้นั่น เมื่อถึงสิ้นเดือนคุณก็ต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟคุณจะพบว่าเงินทุนที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอ คุณควรแยกเงินทำธุรกิจกับเงินส่วนตัวเป็นสองกระเป๋า ธุรกิจมีรายรับรายจ่ายอะไรควรจดบันทึกเอาไว้ว่าปัจจุบันมีเงินเหลือเท่าไหร่ และนำเงินที่เหลือไปทำอะไรต่อเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ เงินส่วนตัวที่คุณได้นั้น จะได้มาในฐานะของลูกจ้างกิจการ ต่อให้ร้านคุณมีคนเข้าจนแน่นทุกวันแต่แยกเงินร้านกับเงินส่วนตัวไม่ได้คุณก็ไม่มีทางได้กำไรหรืออาจทำให้ร้านอาหารของคุณเจ๊งไปเลยก็ได้